วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

นอนกรน

      การนอนหลับเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ถ้าเกิด "นอนกรน" จะทำให้การนอนหลับไม่มีความสุขทั้งต่อตัวเองและคนที่นอนข้างเคียง ทั้งยังเกิดผลเสียที่จะตามมาอีกด้วย บางคนเถียงคอขึ้นเอ็นเลยว่า "ไม่ได้นอนกรน" แต่ลองถามคนที่นอนข้างเคียงดูเถอะ....จะรู้ 
     วันนี้ "ยัยมิ้นท์ช่างเม้าท์"ก็เลยจะพามารู้จัก การนอนกรน กันว่า จริง ๆ แล้วมีผลเสียอย่างไรบ้างกับตัวเองและคนข้างเคียง
 
นอนกรน 
                                             
       การนอนหลับที่มีเสียงดังขณะหายใจเข้าหรือออก โดยที่เสียงนั้นเกิดขึ้น เนื่องจากการสั่นสะเทือน (Vibrate) ของอวัยวะส่วนต่างๆในช่องปากและลำคอ ซึ่งได้แก่ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน โคนลิ้น ต่อมทอนซิล และ กล่องเสียง 

นอนกรน คือ ความผิดปกติของการนอน มี ๒ ชนิด ดังนี้ 

1.ชนิดไม่อันตราย ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพียงแต่ก่อความรำคาญให้คนใกล้ชิดเท่านั้น

2.ชนิดอันตราย นั่นคือ หยุดหายใจขณะหลับ อันเนื่องมาจากมีการ
อุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับ ภาวะอุดตันทางเดินหายใจ
ส่วนบน และระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ นอนกรน ชนิดไม่อันตราย ขณะที่คนเรานอนหงายและหลับสนิท เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนจะตกไปทางด้านหลัง ในคนที่ช่องคอแคบกว่าปกติ เนื้อเยื่อเหล่านี้จะขวางกั้นทางเดินผ่านของอากาศจึงเกิดเสียงกรนขึ้น ซึ่งอาจทำให้รบกวนคนที่นอนด้วยให้เกิดความรำคาญ 

 สังเกตอาการตนเองอย่างไร

      ผู้ป่วยที่นอนกรน ไม่ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ อาจให้คนนอนข้างๆ สังเกตหรือพิจารณาว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่

     1.นอนกรนเสียงดัง 

     2.รู้สึกนอนไม่เต็มตื่น อ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ 

     3.ตื่นนอนตอนเช้ามีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย

    4.ง่วงนอนบ่อย หรือหลับง่ายในช่วงกลางวัน ขณะทำงานหรือเรียนหนังสือ จนถึงขั้นมีอันตรายเช่นอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์ (หลับใน) หรืออุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ

     5.ความคิดการอ่าน ความสามารถในการจดจำลดลง 

     6.หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยกว่าปกติ

     7.ในเด็กอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายไม่แข็งแรง ปัสสาวะรดที่นอน 

                                                                                          

แนวทางการรักษา แยกได้เป็น 2 แนวทาง คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด 

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด 

     1.การควบคุมน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน การพยายามลดน้ำหนักลง มีรายงานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ลดน้ำหนักได้ร้อยละ 7.8 จะมีอัตราการนอนกรนลดลงถึงร้อยละ 30 ผู้ป่วยนอนกรนที่ลดน้ำหนักตัวลงจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของระบบทางเดินหายใจ ส่วนบนกว้างขึ้น
                                    
                                                 ที่มาของรูป www.sleepgroup.com 
      
     2.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท 
แอลกอฮอล์และยากล่อมประสาทเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในผู้ป่วยที่นอนหลับยากควรเลี่ยงการดื่มสารที่มีกาเฟอีน
                                                                                                                     
     3.การนอน ผู้ป่วยที่นอนหงายจะมีอาการกรนและหยุดหายใจ ขณะหลับได้บ่อยกว่านอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ในสมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ที่ใส่นอนตะแคงหรือนอนคว่ำ (sleep ball technique)

     4.การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม เครื่องมือทางทันตกรรมที่ใช้นี้จะมีลักษณะคล้ายๆ ฟันยางกันกระแทกของนักมวย แต่จะถูกดัดแปลงมาให้ปรับตำแหน่งของขอกรรไกรล่างให้เคลื่อนมาทางด้านหน้า กว่าภาวะปกติ ทำให้บริเวณลิ้นเคลื่อนมาทางด้านหน้าด้วย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ลักษณะอาการคอแห้งปากแห้ง มีอาการอักเสบของข้อกราม หรือในรายที่เครื่องมือชำรุด ชิ้นส่วนอาจตกเข้าในปาก ลำคอ หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมได้ 

   5.การใช้เครื่องอัดอากาศเพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ (CPAP) เป็นวิธีการป้องกันการตีบแคบของช่องลำคอ โดยใช้แรงดันอากาศเป็นตัวถ่างไว้ 

การรักษาโดยการผ่าตัด 

     จุดประสงค์ของการผ่าตัดในการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ทางเดินหายใจส่วนบน คือ การขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น การที่จะพิจารณาผ่าตัดนั้น ต้องพิจารณาหลายปัจจัย ส่วนมากแล้วมักต้องตรวจการนอนก่อน ตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของที่ตรวจได้ ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ ระดับโพรงจมูก ระดับเพดานอ่อน และระดับโคนลิ้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ

     1.อายุ ในคนที่มีอายุมาก เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดความตึงตัว กล้ามเนื้อหย่อนยาน รวมทั้งช่องทางเดินหายใจบริเวณคอแคบลง ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย

     2.เพศ เพศชายจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดตันทาง เดินหายใจส่วนบนมากกว่าเพศหญิง เชื่อว่าฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทาง เดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดีกว่า

     3.ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีคางสั้นมาก กระดูกใบหน้าแบน จะมีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ

     4.ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีการสะสมของไขมันมากบริเวณลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกแย่ลง

     5.การดื่มสุรา ยาคลายเครียด และยานอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง รวมถึงกล้ามเนื้อในลำคอ เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ง่าย นอกจากนี้แอลกอฮอล์และยายิ่งมีผลกดการทำงานของสมองให้ช้ากว่าปกติ

     6.การสูบบุหรี่ ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพแย่ลง

     7.กรรมพันธุ์ 

       ควรสังเกตตนเองและพูดคุยกับคนใกล้ชิดว่าอาการเหล่านี้เป็นมากน้อยเพียงใด และควรใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น "การนอน จะไม่ใช่การพักผ่อนที่ดีที่สุด" ของคุณอีกต่อไป

       ด้วยความปราถนาดีจาก คนรักสุขภาพ....."ยัยมิ้นท์ช่างเม้าท์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น